ใบความรู้ เรื่อง โวหารภาพพจน์

วรรณคดีร้อยกรอง กวีมักใช้ศิลปะในการนำถ้อยคำ สำนวน โวหารมาประกอบทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพและมีอารมณ่ร่วมหรือคล้อยตามไปด้วยกวีจะเลือกใช้คำมาเปรียบเทียบด้วยลักษณะต่างๆ กัน ได้แก่
๑ อุปมา กวีใช้เปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่งโดยมีคำเชื่อมโยง เช่น ดุจ ประดุจ เหมือน เช่น ปาน ฯลฯ ตัวอย่างเช่น

อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย

(เพลงยาวถวายโอวาท : สุนทรภู่)

กวีได้เปรียบเทียบความคิดหรือความรู้เหมือนอาวุธโดยใช้คำว่า เหมือน เป็นคำเชื่อม

๒ อุปลักษณ์ เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง กวีจะใช้การเปรียบเทียบโดยตรง นำลักษณะเด่นของสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบมากล่าวทันทีโดยไม่มีคำเชื่อมโยง บางครั้งอาจใช้คำว่า เป็น และ คือ เชื่อมโยงก็ได้ ตัวอย่างเช่น

ถ้าเรามีนาวาทิพย์ทำด้วยมุกดา มีความปรารถนาเป็นใบ
มีความอำเภอใจเป็นหางเสือ

( กามนิต : เสฐียรโกเศศ – นาคะประทีป )

กวีเปรียบความปรารถนากับใบเรือ และความอำเภอใจกับหางเสือเรือ โดยใช้ คำว่า "เป็น” เป็นคำเชื่อม

๓ บุคคลวัต หรือ บุคคลสมมติ กวีใช้การสมมุติสิ่งต่างๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ให้มีกิริยาอาการ ความรู้สึกเหมือนมนุษย์ ตัวอย่างเช่น

มะนาวน้อยอย่าพลอยไปเหลิงเล่น ตะวันเย็นลงไปจะไม่แจ้ง
ผักชียี่หร่าไยตาแดง ตะกร้าเก่านอนตะแคงเฝ้าคอยดู

(ราร้างอย่างแร้งไร้ : แรคำ ประโดยคำ )

กวีใช้มะนาว ผักชี ยี่หร่า ตะกร้าให้มีกิริยาเหมือนมนุษย์ คือ มะนาวทำกิริยาเหลิงเล่นผักชี ยี่หร่าทำกิริยาตาแดง ตะกร้าทำกิริยานอนตะแคงเฝ้าคอยดู

๔ อติพจน์ กวีใช้การกล่าวผิดไปจากที่เป็นจริง โดยการกล่าวให้มีลักษณะเกินความเป็นจริง หรือน้อยกว่าจริง เพื่อให้ถ้อยคำกระทบอารมณ์ของผู้อ่านให้มีความรู้สึกเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น

เอียงอกเธออกอ้าง อวดองค์ อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง เลขแต้ม
อากาศจักจารผจง จารึก พ่อฤา
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม อยู่ร้อนฤาเห็น

(โคลงนิราศนรินทร์: นายนรินทร์ธิเบศร์ )

กวีใช้คำ เอียงอกเท แทนสิ่งที่อยู่ในใจ ใช้เขาพระสุเมรุชุบน้ำและดิน แทนปากกา เขียนข้อความในอากาศ ซึ่งล้วนเป็นลักษณะที่เกินความเป็นจริง

๕ สัทพจน์ หรือการเลียนเสียงธรรมชาติ กวีใช้การเปรียบเทียบโดยการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ ทำให้เสียงไพเราะเกิดจินตภาพได้ชัดเจน เกิดความรู้สึกคล้อยตาม ตัวอย่างเช่น


เกือบรุ่งฝูงช้างแซ่ แปร๋นแปร๋น
กรวดป่ามาแกร๋นแกร๋น เกริ่นหย้าน
ฮูมฮูมอู่มอึงแสน สนั่นรอบ ขอบแฮ
คึกคึกทึกเสทือนสะท้าน ถิ่นไม้ไพรพรม
( โคลงนิราศสุพรรณ : สุนทรภู่ )

กวีใช้เลียนเสียงของช้างในคำ แปร๋นแปร๋น แกร๋นแกร๋น ฮูมฮูม ทำให้เกิดจินตภาพได้ชัดเจน

๖ ปฏิพจน์ กวีใช้การเปรียบเทียบที่เกิดจากคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกันหรือขัดแย้งกัน นำมาแต่งให้เข้าคู่กันเพื่อให้เกิดความหมายขนานหรือเกิดภาพตัดกันที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหรือให้จินตภาพที่ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น

รอยบุญเราร่วมพ้อง พบกัน
บาปแบ่งสองทำทัน เท่าสร้าง
เพรงพรากสัตว์จำผัน พลัดคู่ เขาฤา
บุญร่วมบาปจำร้าง นุชร้างเรียมไกล
(โคลงนิราศนรินทร : นายนรินทร์ธิเบศร์ )

นอกจากลีลาแบบต่างๆที่กวีแต่งเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆให้ผู้อ่านคล้อยตามแล้วกวียังมีวิธีการใช้ภาษาสื่อความคิดออกมาในรูปการใช้สัญลักษณ์ สัญลักษณ์ หมายถึง สิ่งหนึ่งใช้แทนอีกสิ่งหนึ่ง วรรณกรรมร้อยกรองกวีใช้สัญลักษณ์คำเดียว อาจมีความหมายกว้างเป็นที่เข้าใจได้ง่าย นับเป็นศิลปะการใช้ภาษาของกวีอย่างหนึ่ง เช่น แก้ว กวีจะใช้แทนความดี ความงาม ความวิเศษ ความมีคุณค่า น้ำค้าง ใช้แทนความบริสุทธิ์ สะอาด ไฟ ใช้แทนความร้อน ยักษ์ ใช้แทนความดุร้าย คนเลว แมลงภู่ ใช้แทนผู้ชาย ดอกไม้ ใช้แทนผู้หญิง เป็นต้น

เห็นแก้วแวววับที่จับจิต ไยไม่คิดอาจเอื้อมให้ถึงที่
เมื่อไม่เอื้อมจะได้อย่างไรมี อันมณีฤาจะโลดไปถึงมือ

(ท้าวแสนปม: รัชกาลที่ ๖)

แก้วและมณีเป็นสัญลักษณ์แทนผู้หญิงที่งดงาม มีค่า หรือผู้หญิงที่มีฐานะสูงศักดิ์กว่า

แมลงภู่ ถึงแม้ความรักของมันจะอยู่ที่ดอกบัวหลวงก็ตามที เมื่อมันเห็นดอกมะลิเลื้อยและอยากดอกกลิ่นหอมใหม่ มันจะยอมนิ่งทนไม่ไปหาละหรือ

(ปริยทรรศิกา: รัชกาลที่๖)

กวีใช้แมลงภู่เป็นสัญลักษณ์แทนผู้ชายและดอกมะลิแทนผู้หญิง


⮈⮊ ⮈⮊ ⮈⮊ ⮈⮊ ⮈⮊ ⮈⮊ ⮈⮊ ⮈⮊⮈⮊










ใบความรู้โวหารภาพพจน์
ภาษาไทย ม.3 เปิดดู 31 ครั้ง

ช่องของ ครูสุพรรณา ศรีกงพาน

โรงเรียนโรงเรียนชุมชนโนนสูง สพป.อุดรธานี เขต 1





โวหารภาพพจน์ วิชาภาษาไทย



แสดงความคิดเห็น




ความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย
ทิพย์สุคนธ์ แสนขอนยาง
ภาษาไทย... ม.3
เปิดดู 40 ครั้ง
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 สมบัติของวรรณคดี
นางสาวสิริขวัญ ขมวดทรัพย์
ภาษาไทย... ม.3
เปิดดู 39 ครั้ง
ใบความรู้โวหารภาพพจน์
สุพรรณา ศรีกงพาน
ภาษาไทย... ม.3
เปิดดู 31 ครั้ง
คำไทยแท้
ธนัชพงศ์ ศิระลักขณาวิชญ์
ภาษาไทย... ม.3
เปิดดู 55 ครั้ง
เรื่อง ปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียน
พิมพิไล บุญสาย
ภาษาไทย... ม.3
เปิดดู 29 ครั้ง
แผนการจัดการเรียนรู้ความหมายโดยตรงและโดยนัย
ทิพย์สุคนธ์ แสนขอนยาง
ภาษาไทย... ม.3
เปิดดู 26 ครั้ง
โวหารภาพพจน์ วิชาภาษาไทย
สุพรรณา ศรีกงพาน
ภาษาไทย... ม.3
เปิดดู 47 ครั้ง

OBEC PLAY Education Platform | Powered By Spirit Team