ราชวงศ์ทั้ง 5 แห่งกรุงศรีอยุธยา
สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.6 เปิดดู 36 ครั้ง


ช่องของ ครูอภิรัฐ ศิริกุล

โรงเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเองเชียงพิณ 5 สพป.อุดรธานี เขต 1





กษัตริย์สมัยอยุธยา
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พ.ศ.1893 - 1912
เมื่อขึ้นก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้ทรงรับ ลัทธิเทวราชา เป็นลัทธิที่ถือว่ากษัตริย์เป็นสมมติเทพ และนำระบบจตุสดมภ์ มาใช้ในการปกครองบ้านเมือง ระหว่างครองราชย์นั้นได้โปรดฯให้พระราชโอรส คือพระราเมศวร ไปครองเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางเหนือและให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพี่พระมเหสี ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันตก และเป็นสมัยที่ไทยขยายอำนาจเข้าไปในเขมร ได้เขมรเป็นประเทศราชครั้งแรก รวม 19 ปี
สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ 1) พ.ศ.1912 - 1913
ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ครองราชย์ไม่ถึงปี ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นลุงยกทัพมาจากเมือง สุพรรณบุรีบังคับเอาราชสมบัติแล้วให้ไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม รวมไม่ถึงปี
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) พ.ศ.1913 - 1931
ขุนหลวงพะงั่วเป็นบุตรเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มาแต่เดิม มีฐานกำลังมั่นคงที่ช่วยส่งเสริมให้พระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นบุตรเขยให้ก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาได้สำเร็จ เมื่อพระอู่ทองสวรรคต ขุนหลวงพะงั่วพี่พระมเหสี ซึ่งครองเมืองสุพรรณบุรีอยู่เห็นเป็นโอกาสจึงรวบรวมกำลังกองทัพยกเข้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราเมศวร ซึ่งเป็นหลานจำต้องยอมยกราชสมบัติ ขุนหลวงพะงั่วขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้วลดตำแหน่งพระราเมศวร ให้ไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม ระหว่างขึ้นครองราชย์ทรงรวบรวมอาณาจักรของคนไทย ยกทัพไปรุกรานสุโขทัยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายใน พ.ศ.1921 พระมหา-ธรรมราชาที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัยเห็นว่าจะสู้รบต่อไปไม่ไหวจึงออกมาอ่อนน้อมอยู่ในฐานะ ประเทศราชของอยุธยา และได้แบ่งอาณาจักรสุโขทัยออกเป็น 2 ส่วน คือ ทางทิศเหนือให้อยู่ภายใต้การปกครองของพระยาไสยลือไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพิณษุโลก ทางทิศใต้ให้เจ้านายเชื้อสายสุโขทัยปกครอง แต่ขึ้นต่ออยุธยา รวม 19 ปี
สมเด็จพระเจ้าทองจันทร์ พ.ศ.1931
พระราชโอรสของขุนหลวงพะงั่ว ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา ครองราชย์ได้เพียง 7 วัน พระราเมศวร ก็ยกทัพจากลพบุรีมาเอาราชสมบัติคืน และจับพระเจ้าทองจันทร์สำเร็จโทษ แล้วขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สอง รวม 7 วัน
สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ 2) พ.ศ.1931 - 1938
ระหว่างที่ครองราชย์ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และเมื่อเขมรแข็งข้อ ยกทัพมากวาดต้อนผู้ตนในเมืองชลบุรีและจันทบุรี จึงยกทัพไปตีเขมร ยึดได้นครธมซึ่งเป็นเมืองหลวง ทำให้เขมรเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาดังเดิม รวม 7 ปี
สมเด็จพระรามราชาธิราช พ.ศ.1938 - 1952
ซึ่งเป็นโอรสของพระราเมศวร หลังจากครองราชย์อยู่นาน 14 ปี ทรงมีเรื่องพิโรธเจ้าพระยามหาเสนาบดี เจ้าพระยามหาเสนาบดีจึงหันไปทูลเชิญเจ้านครอินทร์(หลานของขุนหลวงพะงั่ว) ซึ่งขณะนั้นครองเมือง สุพรรณบุรี ให้ยกทัพมาปล้นเอากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระรามราชาธิบดี จึงถูกถอดจากราชสมบัติ รวม 14 ปี
สมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) พ.ศ.1952 - 1967
ทรงเป็นพระราชลัดดาของขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งในระหว่างนี้ พระมหาธรรมราชาที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นประเทศ เสด็จพระสวรรคตโดยมิได้ตั้งรัชทายาท ทำให้พระราชโอรสคือพระยาบาลเมืองกับพระยารามคำแหงชิงราชสมบัติกัน สมเด็จพระนครินทราธิราช จึงเสด็จไปไกล่เกลี่ย โปรดให้พระยาบาลเมือง ครองกรุงสุโขทัยเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)และให้พระยารามคำแหง(รามราช)ไปครองเมืองกำแพงเพชร และขอพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 อภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยา พระราชโอรสองค์ที่สามของพระองค์ ทำให้อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาใกล้ชิดสนิทสนมในฐานะที่พระมหากษัตริย์เป็นเครือญาติกัน รวม 15 ปี
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พ.ศ.1967 - 1991
เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราช เสด็จสวรรคต พระราชโอรสองค์ที่ 1 คือ เจ้าอ้ายพระยา กับองค์ที่ 2 คือ เจ้ายี่พระยา ชิงราชสมบัติถึงกับชนช้างต่อสู้กัน และทรงฟันพร้อมกันจนขาดคอช้างด้วยกันทั้งสองพระองค์ พระราชวงศ์และขุนนางจึงทูลเชิญ เจ้าสามพระยา พระราชโอรสองค์ ที่ 3 ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรม ราชาธิราชที่ 2 ระหว่างครองราชย์ไปเสด็จตีเชียงใหม่ และยกทัพไปตีเขมร ซึ่งมักถือโอกาสแข็งเมืองบ่อย ๆ เมื่อตีได้นครธมเมืองหลวงใน พ.ศ.1974 จึงกวาดต้อนผู้คนมาเป็นอันมา ทำให้นครธมเป็นเมืองร้างแต่บัดนั้นมาจนทุกวันนี้ รวม 24 ปี
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.1991 - 2031
พระราชโอรสของเจ้าพระสามพระยา เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา ได้รับสถาปนาเป็นพระราเมศวร พระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกอยู่ 2 ปี พระบิดาก็เสด็จสวรรคต จึงเสด็จกลับจากพิษณุโลกมาสืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” และประทับอยู่กรุงศรีอยุธยา 15 ปี จึงเสด็จกลับไปประทับที่พิษณุโลกอีกจนตลอดรัชกาล จึงทำให้เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานี เพราะพระองค์ต้องการประสานน้ำใจชาว สุโขทัยให้เห็นว่าพิษณุโลกมีสภาพเป็นเมืองหลวงของทั้งสุโขทัยและอยุธยาพร้อม ๆ กัน ทำให้ทั้งสองอาณาจักรมีความรู้สึกที่ดีต่อกันและผสมกลมกลืนเป็นอาณาจักรเดียวกันได้อย่างแนบเนียน รวม 40 ปี
พระราชกรณียกิจที่สำคัญคือ
- รวมอำนาจการปกครองไว้ที่ศูนย์กลางคือราชธานี
- แยกข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน (ฝ่ายทหารเรียกว่า สมุหกลาโหม และฝ่ายพลเรือน เรียกว่า สมุหนายก)
- ประกาศใช้ระบอบศักดินาในการปกครองบ้านเมือง
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 (พระอินทราช) พ.ศ.2031 - 2034
ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นที่เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองหลวงชั่วคราวนั้น ทรงเป็นผู้ครองอยุธยา ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง รวม 3 ปี
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ.2034 - 2072
พระราชโอรสของพระบรมไตรโลกนาถ พระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ก่อนขึ้นครองราชเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก โดยทรงสร้างวัดหลายแห่งและทรงหล่อพระพุทธรูป คือ พระศรีสรรเพชญ์ หุ้มทองคำ ในด้านการทหารทรงปรับปรุงโดยจัดทำตำราพิชัยสงคราม(ตำรายุทธศาสตร์ในการรบ)จัดทำสารบาญชี(บัญชีสำรวจไพร่) มีสุรสวดี เป็นผู้ควบคุมจัดทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร และเป็นสมัยที่ชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยเฉพาะปืนไฟ พ.ศ.2054 รวม 38 ปี
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (หน่อพุทธางกูร) พ.ศ.2072 - 2076
พระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เดิมชื่อว่า "พระอาทิตย์วงศ์" ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น พระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ครองเมืองพิษณุโลก เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วได้ทรงตั้งพระไชยราชา พระอนุชาต่าง มารดาไปครองเมืองพิษณุโลกแทน เมื่อสวรรคตด้วยโรค ไข้ทรพิษโดยมิได้ตั้งรัชทายาท รวม 4 ปี
พระรัษฎาธิราช พ.ศ.2076 - 2077
พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 เหตุที่มิได้มีคำว่า "สมเด็จ"นำหน้าเพราะได้ราชสมบัติเมื่อพระชนมายุ 5 พรรษา พระไชยราชา ซึ่งเป็นพระเจ้าอา ที่ครองเมืองพิษณุโลกในฐานะเป็นอุปราชจึงยกทัพมาจับสำเร็จโทษเสีย หลังจากครองราชย์อยู่เพียง 5 เดือนเศษ
สมเด็จพระไชยราชาธิราช พ.ศ.2077 - 2089
พระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรม ราชาธิบดีที่ 4 เมื่อสำเร็จโทษพระรัษฎาธิราชแล้วขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ขณะนั้นพระเจ้า ตะเบงชะเวตี้ แผ่อำนาจเข้าใน หัวเมืองมอญ พวกมอญหนีเข้ามาอยู่ในเมืองเชียงกรานซึ่งเป็นของไทย พระเจ้าตะเบงชะเวตี้จึงถือโอกาสยกทัพมาตีเมืองเชียงกรานไปได้ใน พ.ศ.2081 สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปตีคืนมา ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและมีความชำนาญในทำปืนไฟ ถือเป็นสงครามระหว่างไทยกับพม่าครั้งแรก รวม 12 ปี
พระยอดฟ้า (พระแก้วฟ้า) พ.ศ.2089 - 2091
เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต บรรดาอำมาตย์ราชมนตรี จึงกราบทูลเชิญพระยอดฟ้าราชโอรส ซึ่งประสูติจากท้าวศรีสุดาจันทร์(พระสนมเอกฝ่ายซ้าย) พระชนมายุ 11 พรรษา ขึ้นครองราชย์โดยมีพระราชชนนีว่าราชการเป็นเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ได้ตั้งครรภ์กับพันบุตรศรีเทพ พนักงานรักษาหอพระ จึงตั้งให้พันบุตรศรีเทพเป็น ขุนวรวงศาธิราช ช่วยว่าราชการแผ่นดิน เมื่อขุนวรวงศธิราชมีอำนาจขึ้นก็จัดการสำเร็จโทษพระยอดฟ้าเสีย แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์แทน รวม 2 ปี
ขุนวรวงศาธิราช พ.ศ.2091 (42 วัน)
เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้อำนาจกษัตริย์ท่ามกลางความไม่พอใจของพระราชวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมีขุนพิเรนทรเทพ เป็นหัวหน้า ได้คบคิดกันจับขุนวรวงศาธิราชและเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ประหารชีวิตเสียรวม 42 วัน
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พระเจ้าช้างเผือก) พ.ศ.2091 - 2111
พระอนุชาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เดิมชื่อ พระเทียรราชา ซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุ ระหว่างเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์มีอำนาจเพราะเกรงจะมีภัย หลังจากขุนพิเรนทรและบรรดาขุนนางกำจัดเจ้าแม่อยู่หัว ศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชแล้ว จึงกราบทูลอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และเพื่อเป็นการตอบแทน จึงสถาปนาให้ขุนพิเรนทรเทพเป็นเจ้ามีพระนามว่า พระมหาธรรมราชา ครองเมือง พิษณุโลกมีฐานะเป็นอุปราช และยังมอบพระราชธิดาให้เป็นพระอัครชายาอีกด้วย
เหตุการณ์สำคัญในสมัยนี้คือ
- สงครามพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ซึ่งเป็นกษัตริย์พม่าได้ทราบข่าวความอัปยศในราชสำนักและการเปลี่ยนแผ่นดินจึงถือโอกาสยกทัพเข้ามารุกราน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรอันเป็นทัพหน้าของพม่า ช้างพระที่นั่งเสียที่แก่ข้าศึก พระสุริโยทัย พระมเหสีจึงไสช้างเข้าขวางและถูกพระแสงง้าวขาดคอช้าง
- สงครามช้างเผือก เกิดขึ้นหลังจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้สิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าบุเรงนองได้ราชสมบัติสืบต่อและต้องการเผยอำนาจออกไปให้กว้างขวาง ครั้นได้ยินกิตติศัพท์ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ช้างเผือกถึง 7 เชือก จึงแสร้งทำเป็นขอช้างเผือกเพื่อหาสาเหตุรุกราน และยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา จนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องยอมเสียช้างเผือก และยอมส่งพระราชโอรสองค์โตคือ พระราเมศวรไปเป็นตัวประกัน หลังจากนั้นได้ทรงเสียพระทัยที่เห็นว่าพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นพระราชบุตรเขยเอาใจฝักใฝ่ต่อพม่าไม่เกรงใจพระองค์ จึงสละราชสมบัติให้แก่ พระมหินทราธิราช พระราชโอรสองค์ที่สองแล้วเสด็จออกผนวช รวม 20 ปี
สมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ.2111 - 2112
พระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จขึ้นครองราชย์ระหว่างที่มีวิกฤตการณ์กับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง คือ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองพยายามส่งเสริมให้พระมหาธรรมราชา กระด้างกระเดื่องต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเสียพระทัย จึงทรงสละราชสมบัติให้แก่พระมหินทร์ ทรง พระนามว่า สมเด็จพระมหินทราธิราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองต้องการกรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราชอย่างแท้จริง จึงยกกองทัพมาล้อมกรุงไว้และเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 1 ใน พ.ศ.2112 รวม 1 ปี
สมเด็จพระมหาธรรมราชา (พระสรรเพชญ์ที่ 1) พ.ศ.2112 - 2133
พระนามเดิมชื่อ ขุนพิเรนทรเทพ พระบิดามีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัย และพระ มารดาเป็นญาติทางฝ่ายพระราชชนนีของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้เข้ารับราชการในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชจนได้เป็นขุนพิเรนทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจรักษาพระองค์ เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต และขุนวรวงศาธิราชแย่งราชสมบัติจากพระราชโอรสและ สำเร็จโทษเสียนั้น ทำให้ขุนพิเรนทรเทพไม่พอใจ จึงคบคิดกับขุนนางข้าราชการจับขุนวรวงศาธิราชและเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ประหารชีวิต แล้วทูลอัญเชิญ พระเทียรราชขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระราชปูนบำเหน็จโดยสถาปนาให้เป็นเจ้าว่า สมเด็จพระมหาธรรม ธิราชเจ้า และพระราชทาน พระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาให้เป็นพระมเหสีครองเมืองพิษณุโลก
ขณะที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก กรุงศรีอยุธยาเกิดสงครามกับพม่า ที่สำคัญคือ สงครามช้างเผือก ซึ่งมีผลให้ไทยต้องเสียช้างเผือก ต้องส่งพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเป็นตัว ประกันที่หงสาวดี ต้องส่งส่วยประจำปีให้แก่พม่า และต้องยอมให้พม่าส่งขุนนางมากำกับดูแลทั้งที่กรุงศรีอยุธยาและที่เมืองพิษณุโลก เท่ากับกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นของพม่าโดยปริยาย สมเด็จพระมหาธรรมราชา คงจะไม่ทรงยินดีในฐานะของไทยนัก และคงจะทรงมีแผนการในการแสวงหาอิสรภาพและกอบกู้ศักดิ์ศรีของกรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนมา ดังนั้นเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองอภิเษกให้เป็น พระศรีสรรเพชญ์ ครองเมืองพิษณุโลกในฐานะประเทศราชของพม่าโดยตรง ไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา จึงทรงรับสนองด้วยดี และทรงโอนอ่อนผ่อนตามกระแสพระราชประสงค์ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเรื่อยมา จนในที่สุดเมื่อ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ.2112 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงอภิเษกให้เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในฐานะเป็นประเทศราช จึงเป็นโอกาสให้พระองค์ดำเนินการฟื้นฟูบ้านเมือง รวบรวมกำลังคนให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง เพราะถูกพม่ากวาดต้อนผู้คนไปมากมาย โดยอ้างกับพม่าว่าต้องเตรียมกำลังผู้ตนไว้ต่อสู้กับเขมรเนื่องจากถือโอกาสเข้ามารุกรานปล้นสะดมหัวเมืองชายแดนอยู่บ่อย ๆ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงมี พระราชโอรสธิดา คือ พระองค์แรกเป็นพระราชธิดา ชื่อว่าพระสุพรรณเทวี อีกสองพระองค์เป็นพระราชโอรส ได้แก่ พระองค์ดำ(พระนเรศวร)กับ พระองค์ขาว (พระเอกาทศรถ) พระองค์ดำนั้นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอเอาไปเป็นตัวประกันอยู่ที่หงสาวดีตั้งแต่พระชนมายุ 7 ขวบ จนถึง 15 ขวบ จึงให้กลับมาช่วยพระราชบิดา หลังจากที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้พระราชทานพระสุพรรณเทวี ราชธิดาให้ไปแทน สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสนับสนุนให้พระนเรศวรดำเนินการกอบกู้เอกราชจนสำเร็จใน พ.ศ.2127 รวม 21 ปี
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ.ศ.2133 - 2148 (15 ปี)
สมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 35 ปี และทรงสถาปนาพระเอกาทศรถ พระอนุชาเป็นพระมหาอุราช ช่วงเวลาตลอด รัชกาลทรงใช้ไปในการทำสงครามกับพม่าเป็นส่วนใหญ่ เป็นสมัยที่พระราชอาณาจักรออกไปกว้างขวางที่สุด และทรงประชวรระหว่างยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีและเมืองตองอูของพม่าและเสด็จ สวรรคตที่เมืองหางใน พ.ศ.2148 รวม 15 ปี
สมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ.2148 - 2153
ทรงเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรและเป็นอุปราชทำสงครามร่วมกับสมเด็จพระนเรศวรตลอดมา เมื่อครองราชย์แล้วก็ได้ทำนุบำรุงบ้านเมือง มีการติดต่อค้าขายกับฝรั่งตะวันตก และส่งฑูตไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัมเมืองหลวงฮอลันดา ทรงมีพระราชโอรสประสูติกับมเหสี 2 พระองค์คือ เจ้าฟ้าสุทัศน์กับเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ และพระราชโอรสประสูติกับพระสนมอีก 3 พระองค์คือ พระอินทราชา พระศรีศิลป์และพระองค์ทอง ตอนปลายรัชกาลเจ้าฟ้าสุทัศน์ได้รับสถาปนาเป็นพระอุปราช ภายหลังสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเชื่อคำยุยงว่าเจ้าสุทัศน์จะเป็นกบฏ ทำให้ เจ้าฟ้าสุทัศน์เสวยยาพิษถึงแก่ทิวงคต ซึ่งความสร้างความเศร้าโศกแก่สมเด็จพระเอกาทศรถมากจึงมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นพระอุปราชอีกเลย
จนกระทั่งสวรรคต รวม 5 ปี
พระศรีเสาวภาคย์ พ.ศ.2153
ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระเอกาทศรถ บรรดาพระราชวงศ์และขุนนางจึงอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่มิได้มี คำว่า สมเด็จนำหน้าพระนาม เพราะเสด็จสวรรคตก่อนที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะเสวยราชย์ได้เพียงเดือนเศษ เพราะพระศรีศิลป์ พระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ประสูติแต่พระสนม ซี่งขณะนั้นผนวชเป็นภิกษุมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมได้คบคิดกับขุนนางจับพระศรีเสาวภาคย์สำเร็จโทษเสีย รวมเดือนเศษ
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2153 - 2171
เมื่อพระศรีเสาวภาคย์ถูกสำเร็จโทษแล้ว ขุนนางพร้อมใจกันทูลเชิญพระอินทราช โอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระเชรษฐาของพระพิมลธรรม)ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แล้วสถาปนาพระพิมลธรรมเป็นพระอุปราช และเป็นสมัยที่พบรอย พระพุทธบาทที่สระบุรี จึงโปรดให้สร้างมณฑปขึ้น รวม 18 ปี
สมเด็จพระเชษฐาธิราช พ.ศ.2171
เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตแล้ว บรรดาขุนนางมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นหัวหน้าได้กราบทูลอัญเชิญพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์ ทำให้พระศรีศิลป์พิโรธ ซึ่งเป็นอุปราชแต่กลับไม่ได้ราชสมบัติ จึงหนีไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่เพชรบุรี จึงถูกจับสำเร็จโทษ ส่วนพระเชรษฐาธิราชนั้นมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ได้รับคำกราบทูลจากขุนนางบางคนว่า เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จะเป็นกบฏ จึงระแวง เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์รู้ว่าสมเด็จพระเชรษฐาธิราชระแวงสงสัยตนก็โกรธ และถือโอกาสก่อการกบฏเสียจริง ๆ คือจับพระชรษฐาธิราช สำเร็จโทษ หลังจากครองราชย์ได้เพียง 8 เดือน
สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พ.ศ.2172 (28 วัน)
เมื่อเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์สำเร็จโทษสมเด็จพระเชรษฐาธิราชแล้ว ก็กราบทูลอัญเชิญพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาของสมเด็จพระเชรษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ ขณะมีพระชนมายุ 9 พรรษา ครองราชย์ได้เพียง 28 วัน ก็ถูกเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ปลงพระชนม์โดยอ้างว่าไม่ประสีประสา เอาแต่เล่น
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.2172 - 2199
เมื่อกำจัดสมเด็จพระอาทิตยวงศ์แล้ว เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าปราสาททอง ปรากฏว่าชาวญี่ปุ่นที่เข้ามามีบทบาทอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในฐานะทหารอาสา มีออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา)เป็นหัวหน้า พากันไม่ยอมรับเพราะด้วยเห็นว่าได้ปลงพระชนม์พระราชโอรสพระเจ้าทรงธรรมถึง 2 พระองค์ พวกญี่ปุ่นจึงถูกขับออกจากกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนี้มีการติดต่อค้าขายกับฝรั่งชาวยุโรปและได้ตีเขมรเป็นประเทศราช พระเจ้าปราสาททองมี พระราชโอรส 2 พระองค์คือ เจ้าฟ้าไชย ซึ่งประสูติตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นกษัตริย์ และพระนารายณ์ราชกุมาร ซึ่งประสูติแต่พระมเหสี หลังจากครองราชย์แล้ว เจ้าฟ้าไชยกับพระนารายณ์จึงเป็นพระราชโอรสต่างมารดากัน รวม 27 ปี
สมเด็จเจ้าฟ้าไชย พ.ศ.2199
พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งประสูติก่อนที่พระเจ้าปราสาททองจะขึ้นครองราชย์ เมื่อพระเจ้าปราสาททองทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าไชย พระนารายณ์ในฐานะทรงมีสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่า จึงทรงคบคิดกับพระศรีสุธรรม ซึ่งเป็นอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ร่วมกันจับสมเด็จเจ้าฟ้าไชยสำเร็จโทษเสีย หลังจากครองราชย์ได้เพียง 9 เดือน
สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พ.ศ.2199
ทรงเป็นอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทรงสถาปนาพระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังสถานมงคล แต่หลังจากครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนก็เป็นอริกัน เพราะสมเด็จพระศรีสุธรรมราชามีพระทัยเสน่ห์หาใคร่จะได้พระราชกัลยาณี ผู้เป็นพี่สาวของสมเด็จพระนารายณ์ มาเป็นพระชายาอันมิชอบด้วยประเพณี พระนารายณ์จึงพร้อมด้วยขุนนางยกกำลังเข้าโจมตีวังหลวง เกิดการต่อสู้ฆ่าฟันเสียเลือดเสียเนื้อเป็นอันมาก ในที่สุดสามารถจับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาไปสำเร็จโทษ รวม 2 เดือน 20 วัน
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2199 - 2231
ทรงเป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อสำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาแล้ว พระนารายณ์ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เมื่อพระชนมายุ 25 พรรษา ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถ ทำให้กรุง ศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน พระราชกรณียกิจได้รับการยกย่องมากคือ การมีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตก โดยได้เปิดการค้าขายกับชาติต่าง ๆ และยอมให้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์จึงเป็นที่ยอมรับนับถือของชาติตะวันตกโดยเฉพาะฝรั่งเศส ถึงกับส่งราชฑูตไทยไปยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้ไทยได้รับความรู้ใหม่ ๆ เช่น การแพทย์ การสถาปัตยกรรมและการทหารเป็นต้น ทั้งนี้มีฝรั่งชาติกรีกคนหนึ่งเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งรับราชการได้เป็นตำแหน่ง เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ สมุหนายก ดูแลราชการทั่วไปโดยเฉพาะการค้าและการต่างประเทศ คือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ทำให้พระองค์ทรงสร้างพระราชวังแบบตะวันตกขึ้นที่ลพบุรี สำหรับประทับในฤดูร้อนและฤดูหนาว ซึ่งภายหลังก็ประทับที่ลพบุรีเป็นประจำจนสิ้นรัชกาล รวม 32 ปี
สมเด็จพระเพทราชา พ.ศ.2231 - 2246
พระเพทราชา เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมเป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี มีฝีมือในการขับขี่ช้าง เข้ามารับราชการเป็นจางวางกรมช้าง และได้ตามเสด็จในราชการสงครามแสดงฝีมือให้ปรากฏจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยใกล้ชิด เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จยกทัพไปตีเชียงใหม่ก็ได้เสด็จไปด้วย ครั้นได้เมืองเชียงใหม่แล้วพระองค์ได้นำราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ลงมาด้วย จนทรงครรภ์ระหว่างทาง สมเด็จพระนารายณ์ทรงละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา พระเพทราชาก็นำนางไปเลี้ยงดู จนนางคลอดบุตรเป็นชายชื่อว่า "เจ้าดื่อ" เมื่อเจริญวัยก็ถวายเป็นมหาดเล็กในวังหลวง สมเด็จพระ-นารายณ์ทรงพอพระทัย จึงแสดงเป็นนัยให้เจ้าดื่อรู้ว่าเป็นราชโอรส ทำให้เจ้าดื่อไม่เกรงกลัวใคร จนได้รับตำแหน่งเป็น หลวงสรศักดิ์ ช่วยราชการกรมช้างอยู่กับพระเพทราชา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวร และแต่งตั้งให้พระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการว่าราชการแทน ทำให้หลวงสรศักดิ์เห็นเป็นโอกาส จึงคบคิดกับพระเพทราชาเพื่อชิงราชสมบัติ บรรดาขุนนางข้าราชการต่างเกรงอำนาจจึงยอมเข้าด้วย ครั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรหนักและสวรรคตแล้วก็ทำอุบายกำจัดเจ้าฟ้าอภัยทศพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสีย แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเพทราชา และสถาปนาหลวงสรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมพระราชวังสถานมงคล พระมหาอุปราชรวม 15 ปี
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พ.ศ.2246 - 2251
พระราชโอรส(ตามกฎหมาย)ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ชื่อว่าเป็นพระราชโอรสที่แท้จริงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประสูติแต่ราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งตั้งครรภ์ขณะเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา แล้วให้พระเพทราชาไปเลี้ยงดูเป็นภรรยาจนคลอดบุตรเป็นชายชื่อ เจ้าดื่อ เมื่อพระเพทราชาสวรรคต จึงได้ราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ทรงมีความสามารถในการคล้องช้างเช่นเดียวกับพระเพทราชา ทรงพอพระทัยในการตกเบ็ดและโปรดปรานในการชกมวย ชอบปลอมพระองค์ไปชกมวยตามงานที่ชาวบ้านจัดขึ้นและเอาชนะนักมวยชาวบ้านได้เสมอ และคงจะทรงมีพระอุปนิสัยดุดันจริงจังในเรื่องอื่น ๆ อีก จึงได้พระนามว่า พระเจ้าเสือ และทรงมีพระทัยนักกีฬาจะเห็นได้จากการพระราชทานอภัยโทษแก่ พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรื่อพระที่นั่งเอกชัย ซึ่งนำเรือพระที่นั่งชนต้นไม้จนโขลนเรือหัก เมื่อคราวเสด็จประพาสทรงเบ็ดในคลองมหาชัย พระเจ้าเสือทรงมีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพร รวม 5 ปี
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ) พ.ศ.2251 - 2275
พระนามเดิมคือ เจ้าฟ้าเพชร ได้ราชสมบัติได้สถาปนาเจ้าฟ้าพร(พระอนุชา)ขึ้นเป็นพระมหา อุปราช และได้ไปประทับ ณ พระที่นั่งบรรยง รัตนาสน์ข้างท้ายสระเป็นประจำ จึงได้พระนามว่า พระเจ้าท้ายสระ ทรงชอบตกปลา ล่าสัตว์เช่นเดียวกับพระราชบิดา ทรงสร้างวัดป่าโมกข์ที่อ่างทอง ขุดคลองมหาชัยเชื่อมแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ขุดคลองเกร็ดน้อย มีการค้าขายสำเภากับต่างประเทศโดยเฉพาะจีน พระเจ้าท้ายสระทรงมีพระราชโอรส คือเจ้าฟ้าอภัย กับเจ้าฟ้าปรเมศร์ เมื่อประชวรหนักทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย ไม่ทรงมอบให้พระมหาอุปราช(ซึ่งเป็นพระอนุชา)ทำให้พระมหาอุปราชไม่พอพระทัย เกิดสงครามชิงราชสมบัติขึ้น ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองครั้งยิ่งใหญ่ มีการรบพุ่งต่อสู้กับสงครามระหว่างประเทศ ในที่สุดพระมหา อุปราชเป็นฝ่ายชนะ โดยจับเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ซึ่งเป็นหลานประหารชีวิตพร้อมกับแม่ทัพนายกองฝีมือดีไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้กำลังทหารของกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลงอย่างยิ่ง รวม 25 ปี
สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระเจ้าอยู่บรมโกศ) พ.ศ.2275 - 2301
ทรงเป็นอนุชาของพระเจ้าท้ายสระ(เจ้าฟ้าพร) ในรัชกาลนี้บ้านเมืองสงบ มีความเจริญด้านต่าง ๆ มี กวีสำคัญ ๆ เกิดขึ้น เช่น เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร เจ้าฟ้าหญิงกุณฑล เจ้าฟ้าหญิงมงกุฏ มีวรรณคดีที่มีชื่อเสียง เช่น บทเห่เรือประพาสธารทองแดง อิเหนาใหญ่ ด้าน พระศาสนา มีการส่ง พระสมณฑูตไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี รวม 26 ปี ทรงมีพระราชโอรส คือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร เจ้าฟ้าเอกทัศ เจ้าอุทุมพร ตอนปลายรัชกาลทรงสถาปนาเจ้าอุทุมพร เป็นพระมหาอุปราช ทำให้เจ้าเอกทัศซึ่งเป็นพระเชรษฐาไม่พอใจ
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) พ.ศ.2301 (2 เดือน)
ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อขึ้นครองราชย์ทำให้เจ้าฟ้าเอกทัศไม่พอใจ เพราะเห็นว่าตนเป็นพี่ควรได้ราชสมบัติมากว่า จึงทรงดื่อแพ่ง แสดงพระองค์เป็นกษัตริย์โดยเสด็จไปประทับยังพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์(ซึ่งเป็นที่ว่าราชการ) ครองราชย์อยู่ 2 เดือน สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงจำต้องยอมมอบราชสมบัติให้แก่พระเชรษฐา แล้วเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุ ภายหลังเมื่อพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่ายกทัพมาล้อมพระนคร พระเจ้าเอกทัศให้ลาสิกขาออกไปช่วยป้องกัน เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จไปผนวชอีก ราษฎรจึงเรียกพระองค์ว่า ขุนหลวงหาวัด รวม 2 เดือน
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์) พ.ศ.2301 - 2310
ทรงเป็นพระเชรษฐาของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครองราชย์โดยวิธีการดื้อแพ่งด้วยการแสดงพระองค์เป็นกษัตริย์ด้วยการไป ประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จนพระอนุชาอิดหนาระอาใจยอมยกราชสมบัติให้ และได้รับพระนามว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายเป็น จำนวนมาก ทำให้บ้านเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2303 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็มาช่วยป้องกันไว้ได้ ครั้นถึง พ.ศ.2309 พม่ายกทัพมาล้อมกรุงอีกจึงเสียกรุงแก่พม่าใน พ.ศ.2310 รวม เวลา 9 ปี



แสดงความคิดเห็น




วัฒนธรรมไทย
วิชชกรณ์ ธาตุชัย
สังคมศึกษา ศาสนา แ... ป.6
เปิดดู 28 ครั้ง
ประวัติพระพุทธเจ้า
วิชชกรณ์ ธาตุชัย
สังคมศึกษา ศาสนา แ... ป.6
เปิดดู 28 ครั้ง
ราชวงศ์ทั้ง 5 แห่งกรุงศรีอยุธยา
อภิรัฐ ศิริกุล
สังคมศึกษา ศาสนา แ... ป.6
เปิดดู 36 ครั้ง
โลกและแผนที่
กิตติคุณ ชาวเหนือ
สังคมศึกษา ศาสนา แ... ป.6
เปิดดู 38 ครั้ง

OBEC PLAY Education Platform | Powered By Spirit Team